เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ EdPEx

ข้อมูล EdPEx เบื้องต้น

EdPEx ย่อมาจาก “Education Criteria for Performance Excellence” หรือ“เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ” ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการตามแนวทางของเกณฑ์ Malcolm Baldrige National Quality Award: MBNQA ที่เป็นต้นแบบของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA)  เกณฑ์ EdPEx คือกรอบที่ทำให้มอง/คิดและบริหารองค์กรในเชิงระบบ (มองทุกระบบเชื่อมโยงกันหมด) และช่วยให้ในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน จากจุดเน้นที่เป็นเรื่องหลักของสถาบันของเราจริงๆ

เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence – EdPEx)
ใช้เกณฑ์แบบเดียวกับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ใช้กับระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ  เกณฑ์จะตั้งคำถามให้สถาบันพิจารณา ว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วหรือไม่

  • มีการดำเนินงานที่เป็นระบบหรือไม่
  • นำระบบไปใช้อย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และทั่วถึงหรือไม่
  • ติดตาม ประเมินผล เพื่อพัฒนาระบบให้ดีขึ้นหรือไม่
  • ผลการปรับปรุง ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายและทิศทาง ที่มุ่งหวังหรือไม่
  • ผลลัพธ์ของการปรับปรุง สร้างความยั่งยืนได้หรือไม่

edpex

ภาพโครงสร้างของเกณฑ์

โครงสร้างของเกณฑ์ EdPEx

1. โครงร่างองค์กร

เป็นการบ่งบอกถึงบริบท  และอธิบายวิธีการปฏิบัติการขององค์การ สภาพแวดล้อมการดำเนินการ ความสัมพันธ์ที่สำคัญในการปฏิบัติการ และความท้าทายเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ครอบคลุมระบบการจัดการ การดำเนินการองค์การโดยรวม

2. หมวดกระบวนการ (หมวด 1 – 6)

  • หมวด 1 การนำองค์กร : วัดประสิทธิผลของการนำองค์กร
  • หมวด 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์ : วัดการบรรลุแผนงานและยุทธศาสตร์
  • หมวด 3 การมุ่งเน้นลูกค้า : วัดความพึงพอใจ และความผูกพัน (เกี่ยวกับหลักสูตรและกลไกการสนับสนุนการเรียนรู้)
  • หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ : วัดผลการเรียนรู้ขององค์กรและการแก้ปัญหา
  • หมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร : วัดการสร้างและพัฒนาบุคลากร
  • หมวด 6 การมุ่งเน้นระบบปฏิบัติการ : วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทุกส่วนงาน

3. หมวดผลลัพธ์ (หมวด 7)

พิจารณาตั้งแต่คุณภาพหลักสูตร ผลการเรียนรู้ คุณภาพงานวิจัย ประสิทธิผลระบบงานต่างๆ ผลการมุ่งเน้นลูกค้าและผู้เรียน การสร้างความผูกพันและการพัฒนาบุคลากร การเงิน ความเป็นผู้นำ และการสนับสนุนชุมชน

 

การประเมิน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  • ประเมินกระบวนการ (มีแนวทางที่เป็นระบบ มีการถ่ายทอดเพื่อนำไปปฏิบัติ มีการเรียนรู้ มีการบูรณาการ)
  • ประเมินผลลัพธ์ (แนวโน้ม การเปรียบเทียบ การบูรณาการ)

คะแนนในแต่ละหมวด (รวม 1,000 คะแนน)

  • หมวด 1 การนำองค์การ 120 คะแนน
  • หมวด 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์ 85 คะแนน
  • หมวด 3 การมุ่งเน้นลูกค้า 85 คะแนน
  • หมวด 4 การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 90 คะแนน
  • หมวด 5 การมุ่งเน้นบุคลากร 85 คะแนน
  • หมวด 6 การมุ่งเน้นระบบปฏิบัติการ 85 คะแนน
  • หมวด 7 ผลลัพธ์ 450 คะแนน